ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์นำเสนอนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการบูรณาการแบบองค์รวม
ของโรงเรียนบ้านทุ่งรูง ตำบลผักไหม อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต ๑
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
โดยเครือข่ายความร่วมมือกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นำโดย รศ.สมัย ยอดอินทร์และคณะ
รุ่นที่ 1 (เริ่มภาคเรียนที่ 2/2552)
โรงเรียนในสังกัด สพป.สุรินทร์ เขต 1 โรงเรียนบ้านทุ่งรูง , โรงเรียนบ้านตรึม(ตรึมวิทยานุเคราะห์)
โรงเรียนในสังกัด สพม.33 โรงเรียนห้วยจริงวิทยา
รุ่นที่ 2 (เริ่มภาคเรียนที่ 2/2553)
โรงเรียนบ้านระไซร์ โรงเรียนบ้านหัวแรตนาโพธิ์
รุ่นที่ 3 (เริ่มภาคเรียนที่ 1/2554)
โรงเรียนสังกัด สพป.สุรินทร์ เขต 1 โรงเรียนบ้านกระโดนค้อ โรงเรียนบ้านกระดาน โรงเรียนบ้านช่างปี่
โรงเรียนในสังกัด สพป.สุรินทร์ เขต 3 โรงเรียนบ้านฉลีก โรงเรียนบ้านปลัด โรงเรียนวันเจริญสามััคคี
เพื่อพัฒนาด้านวิชาการ ด้านการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาระดับท้องถิ่น (หลักสูตรท้องถิ่น)
และการจัดการเรียนการสอนโดยใช้
กระบวนการจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวม

วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวมที่โรงเรียนบ้านทุ่งรูง

โรงเรียนบ้านทุ่งรูง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 1

โรงเรียนบ้านทุ่งรูง เป็นโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนในระดับชั้นอนุบาล 1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2552 มีบุคลากรทั้งสิ้น 11 คน เป็นผู้บริหาร 1 คน ข้าราชการครู 7 คน แยกเป็นครูชาย 3 คน ครูหญิง 4 คน ครูอัตราจ้าง 1 คน เจ้าหน้าที่ธุรการ 1 คน นักการภารโรง 1 คน มีนักเรียนรวมทั้งสิ้น 165 คน

ผลการประเมินภายนอก ของ สำนักงานรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษา ครั้งที่ 1 วันที่ 24 – 26 พฤษภาคม 2548 พบว่า นักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งรูง ในระดับก่อนประถมศึกษามีคุณภาพอยู่ในระดับพอใช้ 1 มาตรฐาน คือมาตรฐานที่ 5 (ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิคราะห์ สังเคราะห์ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ) ในระดับประถมศึกษามีคุณภาพอยู่ในระดับพอใช้ 3 มาตรฐาน คือ มาตรฐานที่ 4 (ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรองและมีวิสัยทัศน์) มาตรฐานที่ 6 (ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง) มาตรฐานที่ 12 (ผู้เรียนมีสุนทรียภาพและลักษณะนิสัยด้านศิลปะ ดนตรีและกีฬา) และมีคุณภาพระดับปรับปรุงในมาตรฐานที่ 5 ( ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร)

คณะครูนำโดย ผอ.ชินวงศ์  ดีนาน ได้ร่วมกันศึกษาวิเคราะห์ พิจารณาวางแผนหาวิธีดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนทุก ๆ ด้าน  เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา โดยจะต้องนำระบบการเรียนรู้เป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทาง นโยบาย เป้าหมายการจัดการศึกษาของโรงเรียนและให้เป็นไปตามความคาดหวังของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และ ชุมชน ที่มุ่งหวังให้นักเรียน เป็นคนดี มีความรู้ มีคุณธรรมจริยธรรม มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มีวิจารณญาณ คิดไตร่ตรอง และคิดสร้างสรรค์ มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ได้บทสรุปดังนี้

การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ซึ่งในมาตรา 22 กล่าวถึงการจัดการศึกษาว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้ พัฒนาตนเองได้ตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพและถือว่าผู้เรียนเป็นสำคัญที่สุด มาตรา 23 กล่าวไว้ว่า การจัดการศึกษาต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสมของการศึกษาแต่ละระดับ และมาตรา 24 ได้กำหนดให้สถานศึกษาจัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจ ความต้องการ ความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ปัญหา จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวนความสะดวก เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกับสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการต่าง ๆ จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่ (กระทรวงศึกษาธิการ. 2545 : 8) และเพื่อให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครู สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขปรับปรุง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 จึงควรจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบหรือวิธีการที่หลากหลาย เน้นการจัดการเรียนการสอนตามสภาพจริง การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ร่วมกัน การเรียนรู้จากธรรมชาติ การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงและการเรียนรู้บูรณาการซึ่งเป็นการเรียนรู้ในลักษณะองค์รวม (มูลนิธิสดศรี - สฤษดิ์วงศ์. 2545 : 45) เพราะการเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวม (Integrated Learning to the Unifiled Concepts) เป็นการเรียนรู้จากสรรพสิ่งรอบตัว ตามสภาพของวิถีชุมชนเป็นภาพรวมแล้วจึงหาความเชื่อมโยงของส่วนย่อย เป็นการคิดเชิงระบบ (System Thinking) ซึ่งเป็นการพัฒนาสติปัญญา (Intelligence) เป็นวิธีการคิดองค์รวมของสรรพสิ่งโดยการจำแนกแยกแยะองค์ประกอบย่อยแล้ว ยังมีการวิเคราะห์และจัดประเภทหมวดหมู่ขององค์ประกอบย่อยนั้น ๆ ด้วย ตัวอย่าง องค์รวม “คน” มีองค์ประกอบย่อย โครงกระดูก เนื้อหนัง เลือด น้ำเหลือง หัวใจ ปอด ตับ ไต ไส้ พุง ฯลฯ จัดเป็นระบบได้ เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท ระบบการรับรู้ เป็นต้น การคิดแบบองค์รวมเมื่อแยกแยะ จัดประเภทแล้ว บุคคลต้องสามารถมองเห็นความสัมพันธ์ในองค์ประกอบย่อยเหล่านั้น สามารถคิดและเข้าใจองค์ประกอบย่อยว่ามีความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลกัน และมีความประสานสอดคล้องกันเป็นหนึ่งเดียว เกิดเป็นองค์รวม จึงจะเรียกว่าคิดเป็น (ภวนา เผ่าน้อย. 2549 : 4) การเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวมจึงเป็นการจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยง หลอมรวมเป้าหมายการเรียนรู้ วิธีการเรียนรู้ สาระหรือประสบการณ์ ทั้งภายในกลุ่มสาระหรือระหว่างกลุ่มสาระ อย่างกลมกลืน โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ และพัฒนาผู้เรียนเป็นองค์รวมทุกด้าน ซึ่งอาจเป็นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้จากการปฏิบัติ การจัดทำโครงงาน และการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนที่สอดคล้องกับชีวิตจริง

จากการศึกษาสภาพปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดแนวคิดว่าถ้าจะพัฒนาการศึกษาให้มีการเจริญก้าวหน้าได้ จะต้องมีการปรับกระบวนทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาครู พัฒนาหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอน ซึ่งโรงเรียนควรจัดการเรียนการสอนที่ให้เกิดความรู้ในลักษณะองค์รวมให้แก่นักเรียน เพื่อให้สอดคล้องสัมพันธ์กับชีวิตจริง เกิดการเรียนรู้มีความหมายต่อตัวนักเรียน นักเรียนได้พัฒนากระบวนการคิด ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริงและมีความสุขในการเรียน สามารถนำเนื้อหาสาระของกลุ่มสาระต่าง ๆ มาสอนบูรณาการร่วมกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งในหลักการของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้เปิดโอกาสให้สถานศึกษาสามารถพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมกับท้องถิ่นตนได้ และขณะเดียวกันตัวครูเองก็ต้องศึกษาค้นคว้า พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่จะสามารถเอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนอยู่เสมอ ซึ่งการจัดการเรียนการสอนในประเทศไทยที่ผ่านมายังไม่มีรูปแบบการบริหารจัดการหลักสูตรท้องถิ่นที่เน้นจัดการเรียนรู้โดยการจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวมที่ทำอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ดังที่ภวนา เผ่าน้อย ( 2549, 5) กล่าวไว้ว่าการจัดการเรียนรู้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นการบูรณาการแบบชั้น ๆ ไม่ได้บูรณาการแบบหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ทำให้การเรียนรู้ของเด็กไม่สามารถมองเห็นภาพรวมของความรู้หลาย ๆ สาระที่จะนำไปอธิบายปรากฎการณ์ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในวิถีชุมชน สอดคล้องกับที่สมัย ยอดอินทร์ (2551, 114 – 115) ที่กล่าวว่าการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษามีชั่วโมงการเรียนเนื้อหาแต่ละวันมากเกินไป ทำให้นักเรียนไม่อยากคิดและไม่อยากอ่านหนังสือ สาระการสอนหลายเรื่องควรนำมาบูรณาการ แต่ไม่สามารถทำได้เพราะมีการบริหารเนื้อหาแบบแยกส่วน เช่น เรื่อง เวกเตอร์ (Vector) ในวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ซึ่งน่าจะร่วมกันสอนได้เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างมีรูปธรรม แต่กลับแยกกันสอนคนละแบบจนทำให้นักเรียนไม่รู้เรื่อง ทำให้เกิดความสูญเปล่าในการเรียน นักเรียนเรียนไม่รู้เรื่อง จึงจำเป็นต้องเรียนแบบท่องจำ และอาศัยการกวดวิชาเพื่อช่วยเพิ่มเทคนิคการจำ

องค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนหลักสูตรสู่การปฏิบัติได้อย่างตรงตามเป้าหมาย คือ ครูผู้สอน เพราะครูเป็นผู้นำหลักสูตรไปสู่การจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน ครูต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาหลักสูตรวิธีการจัดกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การจัดการเรียนการสอนในอดีตไม่บรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรเท่าที่ควร ทั้งนี้สืบเนื่องจากผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนบางส่วนไม่เห็นความสำคัญของการนำหลักสูตรไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังพบว่าครูผู้สอนส่วนหนึ่งยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำหลักสูตรไปใช้ ประกอบกับการประสานความร่วมมือระหว่างผู้ปกครอง ภูมิปัญญาท้องถิ่น ชุมชน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานยังขาดความต่อเนื่องและไม่เป็นรูปธรรม ส่งผลให้การจัดการเรียนรู้ไม่บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนรู้ (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา, 2552, 75)

จากสภาพการณ์ดังกล่าวข้างต้น  ผู้บริหาร จึงมีความสนใจ การพัฒนาครูเพื่อให้สามารถจัดทำสาระท้องถิ่นโดยใช้การจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวม ตามแนวทางของสมัย ยอดอินทร์และคณะ (2551) โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสถานศึกษาต่อไป