ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์นำเสนอนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการบูรณาการแบบองค์รวม
ของโรงเรียนบ้านทุ่งรูง ตำบลผักไหม อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต ๑
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
โดยเครือข่ายความร่วมมือกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นำโดย รศ.สมัย ยอดอินทร์และคณะ
รุ่นที่ 1 (เริ่มภาคเรียนที่ 2/2552)
โรงเรียนในสังกัด สพป.สุรินทร์ เขต 1 โรงเรียนบ้านทุ่งรูง , โรงเรียนบ้านตรึม(ตรึมวิทยานุเคราะห์)
โรงเรียนในสังกัด สพม.33 โรงเรียนห้วยจริงวิทยา
รุ่นที่ 2 (เริ่มภาคเรียนที่ 2/2553)
โรงเรียนบ้านระไซร์ โรงเรียนบ้านหัวแรตนาโพธิ์
รุ่นที่ 3 (เริ่มภาคเรียนที่ 1/2554)
โรงเรียนสังกัด สพป.สุรินทร์ เขต 1 โรงเรียนบ้านกระโดนค้อ โรงเรียนบ้านกระดาน โรงเรียนบ้านช่างปี่
โรงเรียนในสังกัด สพป.สุรินทร์ เขต 3 โรงเรียนบ้านฉลีก โรงเรียนบ้านปลัด โรงเรียนวันเจริญสามััคคี
เพื่อพัฒนาด้านวิชาการ ด้านการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาระดับท้องถิ่น (หลักสูตรท้องถิ่น)
และการจัดการเรียนการสอนโดยใช้
กระบวนการจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวม

วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ทำไมต้องหลักสูตรองค์รวม (3)

ทำไมต้องหลักสูตรองค์รวม (3) (รศ.สมัย  ยอดอินทร์)


ยึดหัวหาดของปัญหานี้ได้ที่ไหน
จากที่ได้รับมอบหมายให้ไปช่วยแก้ไขปัญหาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ในโรงเรียนต่างๆ พบว่า การจัดค่ายองค์รวมสามารถสร้างสิ่งต่อไปนี้ได้อย่างครบถ้วน คือ
1. วิธีการทางวิทยาศาสตร์
2. ความคิดรวบยอดทางวิทยาศาสตร์
3. บูรณาการแบบองค์รวม
4. นักเรียนเป็นสำคัญและเรียนรู้อย่างมีความสุข
5. สัมพันธ์กับภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือวิถีชุมชน
และพบว่า ค่ายองค์รวมเป็นหัวหาดของการยึดเพื่อไปแก้ปัญหาการเรียนการสอนได้อย่างดี
ค่ายแบบองค์รวม มีขั้นตอนดังนี้คือ

ขั้นที่ 1 สำรวจพื้นที่เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ตามธรรมชาติอย่างน้อย 5 แบบ เช่น
(1) ป่า ภูเขา หรือแม่น้ำ
(2) แหล่งทำการเกษตร หรืออุตสาหกรรม
(3) แหล่งเสื่อมโทรมหลังจากการเกษตรหรืออุตสาหกรรม
(4) ศาสนสถานและศิลปวัฒนธรรม
(5) ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน
ขั้นที่ 2 แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่ม ๆ ละ 5-10 คน ไปสำรวจแหล่งต่างๆ ดังกล่าว และให้แต่ละกลุ่มตั้งปัญหาด้วยตนเอง โดยมีพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำในรูปที่นักเรียนยังได้คิดด้วยตนเอง

ขั้นที่ 3 นำปัญหาของแต่ละกลุ่มมาเสนอให้ส่วนรวมได้เห็นทั่วกัน แล้วให้นักเรียนแต่ละคนเลือกปัญหาที่ชอบ นำนักเรียนที่ชอบปัญหาเดียวกันมาตั้งเป็นกลุ่มใหม่ ถ้าคนชอบปัญหาเดียวกันมากเกิน 10 คน ก็แบ่งเป็นหลายกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 7 คน โดยให้แต่ละกลุ่มทำปัญหาเดียวกัน แต่อาจจะทำวิธีที่แตกต่างกัน

ขั้นที่ 4 เมื่อแต่ละกลุ่มปัญหาที่อยากหาคำตอบแล้วก็ให้แต่ละกลุ่มตั้งสมมุติฐานเพื่อตอบปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งออกแบบการทดลอง หรือออกแบบการสำรวจเพิ่มเติมแล้วนำมาให้อาจารย์หรือวิทยากรพิจารณาตามความเหมาะสม และความเป็นไปได้เพื่อจัดเตรียมอุปกรณ์การทดลองตามที่กลุ่มต่างๆ ต้องการ

ขั้นที่ 5 ออกสำรวจซ้ำเพื่อเก็บข้อมูลตามที่ออกแบบการทดลอง ทดสอบสมมุติฐานตามปัญหาที่สนใจ ซึ่งอาจเป็นปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นจากขั้นที่ 3 แต่ไม่ได้เกิดขึ้นจากกลุ่มเดิม

ขั้นที่ 6 ทำการทดลอง หรือทำการวิเคราะห์จากข้อมูลที่เก็บมาจากขั้นที่ 5 เพื่อสรุปผลว่าเป็นไปตามสมมุติฐานที่วางไว้หรือไม่

ขั้นที่ 7 นำผลการทดลองหรือสรุปผลจากการทดลองมาเสนอ เพื่อให้ส่วนรวมได้ร่วมตัดสินว่าสนับสนุนสมมุติฐานหรือไม่ โดยผู้รู้และวิทยากรจะช่วยกันพิจารณาความสมเหตุสมผลของผลการทดลองหรือผลสรุปดังกล่าว


สำหรับปัญหาในขั้นที่ 3 ที่ยังไม่ได้เลือกทำ ครูและวิทยากร ก็แยกปัญหาออกเป็นส่วนว่าปัญหาใดควรตอบได้ ปัญหาใดควรนำไปทำโครงงาน และปัญหาใดควรนำไปทำวิจัยชั้นสูง

ขั้นที่ 8 ประเมินผลการจัดค่ายดังกล่าวนี้ทุกขั้นตอน

ขั้นที่ 9 รายงานผลการจัดค่ายในรายละเอียดตั้งแต่เริ่มต้นจนจบเป็นรูปเล่ม
การจัดค่ายดังกล่าวนี้ จะได้ผลแก่ครูก็ต่อเมื่อให้ครูของโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียงมาร่วมเข้าค่ายเดียวกัน โดยปฏิบัติภารกิจเช่นเดียวกับนักเรียนชาวค่าย แต่แยกกลุ่มจากนักเรียนและจัดเวลาการเสนอปัญหา สรุปผลแยกออกไปทำก่อนนักเรียน และเข้าฟังการนำเสนอของนักเรียนทุกครั้ง เพื่อครูจะได้เห็นผลของตนเทียบกับผลจากนักเรียน เท่าที่ทำมาหลายครั้งแล้ว สรุปได้ว่าผลงานของนักเรียนมีคุณภาพกว่าครู ทุกขั้นตอนทั้งระดับประถมและมัธยม
ปัญหาที่เกิดจากการสงสัยของนักเรียนหลังการสำรวจมีได้หลากหลายกว่าปัญหาของกลุ่มครูและมองปัญหากันคนละแบบ มีผลให้ครูรู้ว่าแหล่งเรียนรู้ตามธรรมชาติที่ไปศึกษานั้น สิ่งที่เด็กอยากรู้กับสิ่งที่ครูอยากรู้นั้นไม่ตรงกัน ซึ่งมีผลสะท้อนให้ครูเห็นภาพการสอนของตน ว่าสิ่งที่ครูอยากสอนและสิ่งที่นักเรียนอยากรู้นั้นไม่ตรงกัน
การตั้งสมมุติฐานและการออกแบบการทดลอง ครูมักนึกเสมอว่าเด็กทำไม่ได้ แต่เมื่อให้มาเข้าค่ายพร้อมกัน ครูจึงพบว่าเด็กสามารถทำได้เกินคาด หรือสามารถทำในสิ่งที่ครูคาดไม่ถึงหลายอย่างซึ่งไม่มีในตำรา แต่ครูมักจะทำตามตำราเสียส่วนใหญ่ จึงทำให้เห็นว่า ตำราบังความรู้ของครูจนหมด ในขณะที่เด็กยังไม่ถูกบังโดยตำรา

ผลจากค่ายดังกล่าว ทำให้ครูทราบว่าการเรียนแบบ LEARNING BY DOING เป็นวิธีการที่ดี เด็กเข้าใจได้ครบ 5 อย่าง โดยไม่ต้องท่องจำ คือ

1. วิธีการทางวิทยาศาสตร์
2. ความคิดรวบยอดทางวิทยาศาสตร์
3. บูรณาการแบบองค์รวม
4. นักเรียนเป็นสำคัญและเรียนรู้อย่างมีความสุข
5. สัมพันธ์กับภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือวิถีชุมชน

จึงนำค่ายองค์รวมเป็นจุดนำการเปลี่ยนแปลงทัศนคติแก่ครูดังกล่าว และทำให้ครูสนใจที่จะนำวิธีการดังกล่าวไปประยุกต์ในการเรียนการสอนธรรมดามากขึ้น รวมทั้งครูจะนำวิธีการจัดค่ายแบบนี้ไปสู่การศึกษาวิถีชุมชนได้ดียิ่งขึ้นและสามารถทำได้ผลมาแล้วหลายโรงเรียนซึ่งอธิบายอย่างย่อ ๆ ดังนี้
ก) เปลี่ยนทัศนคติของครูโดยค่ายองค์รวม
จากประสบการณ์การจัดค่ายที่ทำมาแล้ว ปรากฏว่า ครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เห็นด้วยกับโครงการค่ายองค์รวม และเข้าใจความต้องการห้าข้อชัดขึ้น และยังเข้าใจเจตนารมณ์ของนักเรียนเป็นสำคัญ พร้อมทั้งการบูรณาการแบบองค์รวม ตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ 2542 ได้ดียิ่งขึ้น และครูส่วนใหญ่เพิ่งทราบจากค่ายดังกล่าวว่า สิ่งที่เด็กอยากรู้ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ครูอยากสอน และสิ่งที่เด็กอยากรู้ก็ยังเป็นมุมมองสอดคล้องกับสาระหลักของหลักสูตร ครูเริ่มเห็นประโยชน์ของการเรียนจากธรรมชาติรอบๆ ตัว และพบว่าการเรียนรู้จากปัญหาที่เด็กตั้งขึ้นจะดีกว่าครูเป็นผู้ตั้งปัญหา

ข) นำปัญหาที่นักเรียนตั้งจากค่ายไปสู่ห้องเรียน และหลักสูตรปกติรวมทั้งโครงงานมีผลทำให้เด็กเกิดการอยากเรียนรู้มากกว่าเดิม เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะความอยากรู้ของเด็ก

ค) จากค่ายองค์รวมไปสู่ค่ายวิถีชุมชน เพื่อให้การเรียนการสอนสัมพันธ์กับวิถีชุมชนและให้เห็นว่าการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับวิถีชุมชนที่ปฏิบัติกันมาหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น ว่านหางไหลที่ใช้เพื่อการทำให้ปลาเมาคล้ายกับยาเบื่อจะได้จับปลาได้ง่าย เมื่อจับปลามาได้แล้วก็บีบมะนาวใส่น้ำที่ขังปลา ปลาก็จะหายเมา วิธีการดังกล่าวเป็นวิถีชุมชนที่นำมาอธิบายได้ถึงสภาพความเป็นด่างของว่านหางไหล ความเป็นกรดของมะนาว และการเกิดความเป็นกลางของปฏิกิริยาเคมีที่สามารถตรวจสอบได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

วิถีชุมชนแบบนี้ยังมีอีกมากและเป็นเรื่องที่สามารถหยิบยกขึ้นมาเพื่อนำมาเข้าสู่บทเรียนทางวิทยาศาสตร์ที่ครูอาจารย์จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมจากชุมชนรอบโรงเรียน แล้วนำมาศึกษาเพื่อเป็นตัวอย่างและเป็นอุปกรณ์การสอน นักเรียนจะเห็นได้ว่า ความรู้จากโรงเรียนเมื่อกลับมาบ้านก็สามารถอธิบายได้โดยไม่แปลกแยกจากกัน การได้ความรู้จากวิถีชุมชนสามารถทำได้โดยการจัดค่ายวิถีชุมชน เอาครูอาจารย์จากหลายโรงเรียนมาร่วมกัน จัดเป็นค่ายปฏิบัติการเพื่อออกศึกษาวิถีชีวิตชุมชนรอๆ โรงเรียน แล้วนำมาวิเคราะห์ เพื่อใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ อธิบายเป็นตัวอย่างในการนำเข้าสู่บทเรียน เช่น ตะบันไฟ ว่านหางไหล ว่างหางดาบ ฯลฯ

ง) ขยายไปทุกหมวด ในวิถีชุมชนยังมีภูมิปัญญาที่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เท่านั้น แต่ขยายวงไปถึงสาขาวิชาอื่นด้วย ทั้ง เกษตร การงานพื้นฐานอาชีพ สังคมศาสตร์ ศาสนา ประวัติศาสตร์ ภาษา สุขศึกษา พลานามัย คหกรรมศาสตร์ ศิลปศึกษา และอื่นๆ จึงจำเป็นต้องขยายแนวคิดไปทำงานร่วมกันทุกหมวด อย่างน้อยที่สุดก็สามารถนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์ไปวิเคราะห์ปัญหาที่พบจากวิถีชุมชนได้ทั้ง 8 สาระ ครูทุกกลุ่มสาระจะได้ศึกษาปัญหาได้ทุกแง่ทุกมุม และสามารถชักจูงครูจากโรงเรียนอื่นมาร่วมกิจกรรมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย


จ) บูรณาการกับหลักสูตร การเรียนการสอนในทุกสาขาวิชา โดยนำผลที่ได้จาก ค) และ ง) มาบูรณาการ มีผลให้เกิดหลักสูตรที่สัมพันธ์กับวิถีชุมชน และบูรณาการแบบองค์รวมได้ ทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งถ่ายทอดอารยธรรมให้แก่เยาวชนได้อย่างเป็นรูปธรรม

ฉ) เชื่อได้อย่างไรว่าหลักสูตรแบบองค์รวมช่วยแก้ปัญหาได้จริง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำวิธีการแบบองค์รวมไปเริ่มใช้กับโครงการวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน(SIS) และได้ทำการประเมินผลของโครงการ โดยวิธี Clinical Test และการติดตามผลกระทบ

ผลประเมินโรงเรียนที่อยู่ในโครงการ SIS ปี 2543-2545 ของภาคเหนือพบว่า

1. นักเรียนในโครงการ SIS โดยเฉพาะนักเรียนที่มีผลการเรียนระดับปานกลาง (GPA: 2.50-3.00) มีการเปลี่ยนแปลงในด้านการรับรู้ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ความรู้สึกนึกคิดทางวิทยาศาสตร์ และทักษะทางวิทยาศาสตร์ในทางที่ดีกว่านักเรียนที่อยู่นอกโครงการ
2. ค่ายวิทยาศาสตร์แบบองค์รวมมีประโยชน์จริงและสามารถนำรูปแบบของค่าย และผลจากค่ายแบบองค์รวมไปสู่ห้องเรียนได้ช่วยให้นักเรียนคิดปัญหาโครงงานได้และคิดได้มากขึ้นนอกจากนี้ค่ายแบบองค์รวมยังส่งเสริมให้เห็นการบูรณาการแบบองค์รวมและหลักสูตรแบบองค์รวม รวมทั้งครูได้สนใจนำวิธีการจัดค่ายแบบนี้ไปสู่การศึกษาวิถีชุมชนได้ดียิ่งขึ้น
3. ค่ายวิถีชุมชนมีส่วนผลักดันให้โรงเรียนมีความสัมพันธ์ชุมชนได้จริงและนำไปสู่การจัดหลักสูตรให้สัมพันธ์กับท้องถิ่นได้จริง

ช) หลักสูตรแบบองค์รวมมีความสมบูรณ์ในตัวหรือไม่ ไม่มีอะไรในโลกที่จะสมบูรณ์ทุกอย่างองค์รวมก็ไม่มีข้อยกเว้น ในบางครั้งจำเป็นที่จะต้องนำวิธีการจัดความเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากค่ายองค์รวม(Strand Map) มาเติมเต็มเพื่อให้การบูรณาการแบบองค์รวมเกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเช่นเดียวกันบางครั้งจำเป็นต้องนำวิธีการ ATLAS (active teaching and learning activities in sciences and technology) มาช่วยเติมเต็มความคิดรวบยอดบางอัน เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์

องค์รวม Strand Map และ ATLAS มิใช่ตัวหลักสูตร แต่เป็นสิ่งที่ทำให้หลักสูตรมีชีวิตและสอดคล้องกับความเป็นอยู่ตามสภาพจริง กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืน และทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งถ่ายทอดอารยธรรมของชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ATLAS สอบถามได้ที่ สวทช. ส่วน Strand Map ซึ่งเป็นวิธีการจัดความเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างๆ นั้น ติดต่อสอบถามได้ที่โครงการพิเศษคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สมัย  ยอดอินทร์
มิถุนายน 2546

ทำไมต้องหลักสูตรองค์รวม (2)


ทำไมต้องหลักสูตรองค์รวม (2) (รศ.สมัย  ยอดอินทร์)


ความคิดรวบยอด
เมื่อพิจารณาผังความคิดรวบยอดต่อไปนี้



การบูรณาการแบบองค์รวม
บูรณาการแบบองค์รวมนั้นเป็นการบูรณาการตามสาระที่เกี่ยวข้องซึ่งแสดงได้ตามแผนภูมิแบบองค์รวม คือ





จากแผนภูมิดังกล่าวนี้ ก็เพื่อต้องการให้เห็นว่าการบูรณาการแบบองค์รวมมีจุดหมายปลายทางเพื่อให้เห็นว่า ธรรมชาติที่สมดุล และวิถีชุมชนที่สมดุล (มีจริยธรรม) เป็นเรื่องเดียวกัน  
ส่วนวิทยาศาสตร์นั้น ยังเป็นบูรณาการกันเองอีกตามแผนผัง
จากปัญหาที่กล่าวมาแล้วว่า นักเรียนถูกบังคับ
ให้จำ จำ จำ โดยตลอดและมีชั่วโมงเรียนมากมายจนน่าเบื่อ
การเรียนอย่างมีความสุข และนักเรียนเป็นสำคัญ จึงเป็นไปไม่ได้ และการนำความรู้มาสัมพันธ์กับภูมิปัญญาท้องถิ่นก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน
เมื่อห้าอย่างที่กล่าวมาแล้วเป็นไปไม่ได้ การเรียนวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในโลกความเป็นจริงก็เป็นไปไม่ได้ การเรียนการสอนจึงต้องล่องลอยไปอยู่ในโลกของความจำเพียงอย่างเดียว และก็ไม่รู้ว่าจำอะไร จึงสรุปได้ว่าเป็นการเรียนการสอนที่สูญเปล่าและมีแต่ความเครียดเข้ามาเพิ่มพูน

ทำไมต้องหลักสูตรองค์รวม

ทำไมหลักสูตรต้องเป็นองค์รวม
(รองศาสตราจารย์สมัย  ยอดอินทร์)

ปัญหาและที่มา

จากที่ได้สัมผัสการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ในระดับมัธยมศึกษา(ของประเทศไทย) ที่ผ่านมา ไม่ต่ำกว่า 10 ปี พบว่า มีปัญหาใหญ่ๆ ต่อไปนี้ คือ
1. ชั่วโมงการเรียนเนื้อหาแต่ละวันมากเกินไป เมื่อรวมชั่วโมงกวดวิชาเข้าไปด้วยก็ต้องเรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 4 ทุ่ม การที่นักเรียนเอง จำเป็นต้องมีชั่วโมงเรียนมากเช่นนี้ ทำให้นักเรียนไม่อยากคิดและไม่อยากอ่านหนังสือ และได้รับเอานิสัยอันนี้มาจนกระทั่งเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ยังเป็นคนไม่ชอบคิดและไม่ชอบอ่าน (มีสถิติระดับชาติรายงานว่า คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละ 6 หน้า)
2. ห้องเรียนแต่ละห้องของโรงเรียนที่ได้รับความนิยมมีนักเรียนมากไป คือ ตั้งแต่ 40-50 คน เมื่อเทียบกับโรงเรียนนานาชาติในเชียงใหม่ซึ่งมีนักเรียนแต่ละห้องไม่เกิน 25 คน โดยที่โรงเรียนนานาชาติดังกล่าวมีครูต่อนักเรียน 1:22 ในขณะที่โรงเรียนมัธยมศึกษา(ของรัฐ) ที่ได้รับความนิยมมีครูต่อนักเรียน 1:17 จึงแสดงว่าชั่วโมงการเรียนตามข้อ 1. มีผลทำให้ห้องเรียนจำเป็นต้องโตขึ้น การจัดการเรียนการสอนแบบนักเรียนเป็นสำคัญจึงทำได้ยาก ที่ทำได้ก็คือการสอนแบบบอกเล่า และบอกให้คิดเหมือนที่ครูคิดให้ เด็กนักเรียนจึงมีโอกาสคิดเป็นทำเป็นได้น้อยมาก
3. สาระการสอนหลายเรื่องควรนำมาสอนได้แบบบูรณาการ แต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะมีการบริหารเนื้อหาแบบแยกส่วน เช่น เรื่อง เวคเตอร์ (vector) ในวิชาคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ ซึ่งน่าจะร่วมกันสอนได้เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างมีรูปธรรม แต่กลับแยกกันสอนคนละแบบจนทำให้นักเรียนไม่รู้เรื่องจากทั้งสองแบบและเกิดความสับสน ในวิชาแคลคูลัส (Calculus) ก็เช่นกัน ฟิสิกส์นำ ในวิชาแคลคูลัส (Calculus) ไปใช้ในรูปเศษส่วน แต่คณิตศาสตร์สอนว่าเป็นโอเปอร์เรเตอร์ และบางโรงเรียนซ้ำร้ายกว่านั้น คือนำวิชาแคลคูลัส (Calculus) ไปสอนในเทอมปลาย ม.6 แต่ฟิสิกส์นำแคลคูลัส (Calculus) ไปใช้ก่อน ม.6 การกระทำแบบนี้เป็นการกระทำที่สูญเปล่า เหมือนกับการกินต้มยำปลาโดยที่กินปลาลงไปก่อน แล้วจึงกินเครื่องปรุงตามไปทีหลัง ซึ่งเท่ากับว่าไม่ได้รับรสชาติของต้มยำปลาอย่างแท้จริง หรืออาจจะกินไม่ได้ทั้งปลาแลเครื่องปรุงเลย
ตัวอย่างที่กล่าวมาแล้วเป็นเพียงจุดเล็กๆ อันหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความสูญเปล่าทั้งชั่วโมงเรียนและงบประมาณ และที่ร้ายกว่านั้น ก็คือ ทำให้นักเรียนคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ไม่รู้เรื่องทั้งสองวิชา จึงจำเป็นต้องเรียนแบบท่องจำ และอาศัยการกวดวิชาเพื่อช่วยเพิ่มเทคนิคการช่วยจำ
4. บ่อยครั้งที่ครูนำชั่วโมงการเรียนการสอนไปติวข้อสอบแบบแปลกๆ จึงทำให้เด็กนักเรียนต้องเรียนเพิ่มเรื่องที่ต้องจำ ขาดการคิดเป็นทำเป็น และก็บ่อยครั้งเช่นเดียวกันที่ครูนำความรู้ระดับมหาวิทยาลัยปี 1 ปี 2 ไปสอนเพิ่มเติมให้แก่นักเรียนอีกโดยมีความมุ่งหวังจะให้นักเรียนเข้าใจเรื่องในระดับมัธยมดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นเจตนาร้ายในรูปของการยัดเยียดความรู้ให้แก่นักเรียนโดยไม่จำเป็น และเมื่อเนื้อหาที่อยากสอนมีมากขึ้นก็จำเป็นต้องสอนแบบบอกเล่ามากกว่าสอนให้เกิดการคิด
5. การแยกการบริหารกลุ่มสาระคณิตศาสตร์ กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ และกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมอิสระออกจากกัน มีผลให้การเรียนอิสระจากวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ตามไปด้วยจึงทำให้การสอนคณิตศาสตร์ได้แต่เน้นการสอนคณิตศาสตร์เพื่อคณิตศาสตร์เพียงอย่างเดียว โดยลืมหน้าที่ของคณิตศาสตร์ในฐานะเป็นภาษาของวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และเป็นแกนของอารยธรรม การละเลยดังกล่าวนี้มีผลทำให้การเรียนคณิตศาสตร์ขาดรูปธรรมในโลกของความเป็นจริงจึงทำให้คณิตศาสตร์ที่เรียนเข้าใจได้ยากขึ้น และเป็นผลต่อเนื่องให้วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ก็เข้าใจยากตามมาด้วย ในที่สุดการกวดวิชาก็จำเป็นต้องเข้ามาช่วยการท่องจำให้แก่นักเรียน และจำเป็นต้องจำมากเพราะแยกจำทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ แต่ถ้าได้ร่วมกันบูรณาการก็จะลดชั่วโมงเรียน และเกิดรูปธรรมของการเข้าใจในโลกความเป็นจริงได้ด้วย ไม่จำเป็นต้องแยกจำดังกล่าวแล้ว

การจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นการจัดการที่สูญเปล่าหรือไม่

มีรายงานตรงกันในระดับนานาชาติระบุว่า 80 % ของโรงเรียนมัธยมศึกษา มีกิจกรรมการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่ทำลายความคิดทางวิทยาศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนต้นของนักเรียน
เมื่อพิจารณาปัญหาที่กล่าวมานี้ เห็นว่าควรจะเพิ่มเป็น 90% ด้วยซ้ำไป และเมื่อไปเยี่ยมโรงเรียนมัธยมศึกษาก็พบว่า เด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นมีหน้าตาสดใส แววตายังฉลาดอยู่ แต่มัธยมศึกษาตอนปลายกลับตรงกันข้าม และพบว่าการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้ทำลายสิ่งต่อไปนี้โดยไม่รู้ตัว คือ
1. วิธีการทางวิทยาศาสตร์
2. ความคิดรวบยอดทางวิทยาศาสตร์
3. บูรณาการแบบองค์รวม
4. นักเรียนเป็นสำคัญและเรียนรู้อย่างมีความสุข
5. สัมพันธ์กับภูมิปัญญาท้องถิ่น



วิธีการทางวิทยาศาสตร์

วิธีการวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนส่วนใหญ่ปฏิบัติกันมา มักเน้นที่การทดลองโดยไม่สนใจสมมุติฐานและที่ขาดและไม่ค่อยสนใจ คือ การฝึก การสังเกต การสงสัย การตั้งปัญหา และการตั้งสมมุติฐาน แล้วจึงออกแบบการทดลอง หรือสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทดสอบสมมุติฐานดังกล่าว ว่าเป็นคำตอบของข้อสงสัยหรือไม่ และที่ร้ายกว่านั้นหลายโรงเรียนไม่มีการทดลองให้ดูเลย

วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การจัดการเรียนเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวมโรงเรียนบ้านทุ่งรูง (2)

การจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวม เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ร่วมกัน การเรียนรู้จากธรรมชาติ การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงและการเรียนรู้บูรณาการซึ่งเป็นการเรียนรู้ในลักษณะองค์รวม เพราะการเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวม (Integrated Learning to the Unifiled Concepts) เป็นการเรียนรู้จากสรรพสิ่งรอบตัว ตามสภาพของวิถีชุมชนเป็นภาพรวมแล้วจึงหาความเชื่อมโยงของส่วนย่อย เป็นการคิดเชิงระบบ (System Thinking) ซึ่งเป็นการพัฒนาสติปัญญา (Intelligence) เป็นวิธีการคิดองค์รวมของสรรพสิ่งโดยการจำแนกแยกแยะองค์ประกอบย่อยแล้ว ยังมีการวิเคราะห์และจัดประเภทหมวดหมู่ขององค์ประกอบย่อยนั้น ๆ ด้วย การเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวมจึงเป็นการจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยง หลอมรวมเป้าหมายการเรียนรู้ วิธีการเรียนรู้ สาระหรือประสบการณ์ ทั้งภายในกลุ่มสาระหรือระหว่างกลุ่มสาระ อย่างกลมกลืน โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ และพัฒนาผู้เรียนเป็นองค์รวมทุกด้าน ซึ่งอาจเป็นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้จากการปฏิบัติ การจัดทำโครงงาน และการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนที่สอดคล้องกับชีวิตจริง

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวม สำหรับนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งรูง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 1 และคาดหวังว่าการดำเนินงานดังกล่าวจะทำให้โรงเรียน
1. ได้หลักสูตรท้องถิ่น (สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น) ที่ใช้การจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวม
2. สร้างการมีส่วนร่วมและเป็นการดึงศักยภาพครูมาร่วมกันพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ
3. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น (สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น)  การจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวม และต่อยอดพัฒนาจัดทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนได้
4. นักเรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีทักษะในการแสวงหา ค้นคว้าความรู้ด้วยตนเอง มีทักษะในการทำงานกลุ่ม ทำงานเป็นทีม


โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปีการศึกษา และได้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 โดยได้ดำเนินการจัดกิจกรรม ดังนี้

ครั้งที่ 1 จัดประชุมปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ครู และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการยอมรับเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นโดยใช้การจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวม ใช้การประชุมเชิงปฏิบัติการ ครู คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับวิธีการดำเนินงาน และจัดประชุมเชิงปฏิบัติการให้กับครูทุกคน เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ความรู้แบบองค์รวมและการบูรณาการแบบองค์รวม เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น และพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้บูรณาการ โดยการจัดค่ายองค์รวมให้กับคณะครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งรูง โดยความร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงเรียนบ้านตรึม “ตรึมวิทยานุเคราะห์” โรงเรียนห้วยจริงวิทยา ระหว่างวันที่ 12 - 16 มีนาคม 2553 เวลา 5 วัน เพื่อให้ครูมีทัศนคติและมองเห็นแนวทางในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นโดยใช้วิธีจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวม ฝึกนักเรียนแกนนำ และนำปัญหาที่นักเรียนตั้งจากค่ายไปสู่ห้องเรียน

ครั้งที่ 2 คณะครูร่วมกันสร้างผังโยงใยความรู้ (Strand Map : SM) และสร้างผังทางเดิน (Road Map : RM) โดยสร้างความเชื่อมโยงอย่างน้อย 3 องค์ประกอบ คือ ด้านกายภาพ ระบบนิเวศน์ และวิถีชุมชน จากค่ายองค์รวม และนำไปสร้างหลักสูตรท้องถิ่นโดยใช้สาระหลักสูตรแกนกลางทั้ง 8 กลุ่มสาระ และใช้วิธีการจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวม และร่วมประชุมตรวจสอบทบทวน แลกเปลี่ยนระหว่างโรงเรียนในเครือข่ายความร่วมมือ ระหว่างวันที่ 1 -4 เมษายน 2553 ณ โรงแรมพีเอ็นดีคอมเพล็กซ์ จังหวัดบุรีรัมย์

ครั้งที่ 3 ประชุม จัดทำหน่วยการเรียนรู้ โครงสร้างเวลาเรียน และสร้างแผนการจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวม และการติดตามการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นฯ นำไปสู่หลักสูตรที่นำไปใช้จริง และสู่การวางแผนการทำวิจัยในชั้นเรียนที่เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ระหว่างวันที่ 26 - 29 เมษายน 2553 โดยท่าน รศ.สมัย ยอดอินทร์ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ผศ.ดร.ภาวนา ภัทรศรีจิรากุล มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ , ผอ.วิทยา พัฒนเมธาดา ผอ.โรงเรียนบ้านบงตัน สพท.เชียงใหม่เขต 5 และครูสิริสรบ์ ก้อนสุรินทร์ โรงเรียนศูนย์อพยพแปลง8 สพท.เชียงใหม่เขต 5 (ช่วยราชการ โรงเรียนชุมชนศรีจอมทอง สพท.เชียงใหม่เขต 6) เป็นวิทยากร ณ โรงแรมอารยาโขงเจียมรีเวอร์ไซด์ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีโรงเรียนเครือข่ายความร่วมมือทุกโรงเรียน

ครั้งที่ 4 เป็นการประชุมตรวจสอบหลังทดลองใช้หลักสูตรและการเขียนรายงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเน้นการดำเนินการจัดทำวิจัยในชั้นเรียนควบคู่กับการจัดการเรียนการสอน ระหว่างวันที่ 24 - 27 พฤษภาคม 2553 โดยมีท่าน รศ.สมัย ยอดอินทร์ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ผศ.ดร.ภาวนา ภัทรศรีจิรากุล มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ณ โรงเรียนบ้านทุ่งรูง และโรงเรียนในเครือข่ายความร่วมมือ

ครั้งที่ 5 กิจกรรมค่ายบูรณาการองค์รวมระหว่างวันที่ 23 – 26 มิถุนายน 2553 ณ โรงเรียนบ้านทุ่งรูง ให้กับนักเรียน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3,4,5,6 จำนวนทั้งสิ้น 130 คน เพื่อปรับทัศนคติ เปลี่ยนวิธีการเรียน ฝึกทักษะกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ และเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน การวิจัยเชิงคุณภาพ การสร้างแบบวัดคลินิกทางวิชาการ สำหรับครู โดยมีท่าน รศ.สมัย ยอดอินทร์ เป็นหัวหน้าคณะวิทยากร ผู้อำนวยการมนตรี แต้มทอง โรงเรียนบ้านตรึม “ตรึมวิทยานุเคราะห์” ผู้อำนวยการศักดิ์ดา ศรีผาวงศ์ โรงเรียนบ้านระไซร้ อำเภอลำดวน ผู้อำนวยการบัญญัติ สมชอบ โรงเรียนห้วยจริงวิทยา คณะครู และนักเรียนแกนนำเป็นพี้เลี้ยงจากโรงเรียนบ้านตรึม “ตรึมวิทยานุเคราะห์” และโรงเรียนห้วยจริงวิทยา จำนวน 40 คน