ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์นำเสนอนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการบูรณาการแบบองค์รวม
ของโรงเรียนบ้านทุ่งรูง ตำบลผักไหม อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต ๑
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
โดยเครือข่ายความร่วมมือกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นำโดย รศ.สมัย ยอดอินทร์และคณะ
รุ่นที่ 1 (เริ่มภาคเรียนที่ 2/2552)
โรงเรียนในสังกัด สพป.สุรินทร์ เขต 1 โรงเรียนบ้านทุ่งรูง , โรงเรียนบ้านตรึม(ตรึมวิทยานุเคราะห์)
โรงเรียนในสังกัด สพม.33 โรงเรียนห้วยจริงวิทยา
รุ่นที่ 2 (เริ่มภาคเรียนที่ 2/2553)
โรงเรียนบ้านระไซร์ โรงเรียนบ้านหัวแรตนาโพธิ์
รุ่นที่ 3 (เริ่มภาคเรียนที่ 1/2554)
โรงเรียนสังกัด สพป.สุรินทร์ เขต 1 โรงเรียนบ้านกระโดนค้อ โรงเรียนบ้านกระดาน โรงเรียนบ้านช่างปี่
โรงเรียนในสังกัด สพป.สุรินทร์ เขต 3 โรงเรียนบ้านฉลีก โรงเรียนบ้านปลัด โรงเรียนวันเจริญสามััคคี
เพื่อพัฒนาด้านวิชาการ ด้านการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาระดับท้องถิ่น (หลักสูตรท้องถิ่น)
และการจัดการเรียนการสอนโดยใช้
กระบวนการจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวม

วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ทำไมต้องหลักสูตรองค์รวม

ทำไมหลักสูตรต้องเป็นองค์รวม
(รองศาสตราจารย์สมัย  ยอดอินทร์)

ปัญหาและที่มา

จากที่ได้สัมผัสการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ในระดับมัธยมศึกษา(ของประเทศไทย) ที่ผ่านมา ไม่ต่ำกว่า 10 ปี พบว่า มีปัญหาใหญ่ๆ ต่อไปนี้ คือ
1. ชั่วโมงการเรียนเนื้อหาแต่ละวันมากเกินไป เมื่อรวมชั่วโมงกวดวิชาเข้าไปด้วยก็ต้องเรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 4 ทุ่ม การที่นักเรียนเอง จำเป็นต้องมีชั่วโมงเรียนมากเช่นนี้ ทำให้นักเรียนไม่อยากคิดและไม่อยากอ่านหนังสือ และได้รับเอานิสัยอันนี้มาจนกระทั่งเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ยังเป็นคนไม่ชอบคิดและไม่ชอบอ่าน (มีสถิติระดับชาติรายงานว่า คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละ 6 หน้า)
2. ห้องเรียนแต่ละห้องของโรงเรียนที่ได้รับความนิยมมีนักเรียนมากไป คือ ตั้งแต่ 40-50 คน เมื่อเทียบกับโรงเรียนนานาชาติในเชียงใหม่ซึ่งมีนักเรียนแต่ละห้องไม่เกิน 25 คน โดยที่โรงเรียนนานาชาติดังกล่าวมีครูต่อนักเรียน 1:22 ในขณะที่โรงเรียนมัธยมศึกษา(ของรัฐ) ที่ได้รับความนิยมมีครูต่อนักเรียน 1:17 จึงแสดงว่าชั่วโมงการเรียนตามข้อ 1. มีผลทำให้ห้องเรียนจำเป็นต้องโตขึ้น การจัดการเรียนการสอนแบบนักเรียนเป็นสำคัญจึงทำได้ยาก ที่ทำได้ก็คือการสอนแบบบอกเล่า และบอกให้คิดเหมือนที่ครูคิดให้ เด็กนักเรียนจึงมีโอกาสคิดเป็นทำเป็นได้น้อยมาก
3. สาระการสอนหลายเรื่องควรนำมาสอนได้แบบบูรณาการ แต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะมีการบริหารเนื้อหาแบบแยกส่วน เช่น เรื่อง เวคเตอร์ (vector) ในวิชาคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ ซึ่งน่าจะร่วมกันสอนได้เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างมีรูปธรรม แต่กลับแยกกันสอนคนละแบบจนทำให้นักเรียนไม่รู้เรื่องจากทั้งสองแบบและเกิดความสับสน ในวิชาแคลคูลัส (Calculus) ก็เช่นกัน ฟิสิกส์นำ ในวิชาแคลคูลัส (Calculus) ไปใช้ในรูปเศษส่วน แต่คณิตศาสตร์สอนว่าเป็นโอเปอร์เรเตอร์ และบางโรงเรียนซ้ำร้ายกว่านั้น คือนำวิชาแคลคูลัส (Calculus) ไปสอนในเทอมปลาย ม.6 แต่ฟิสิกส์นำแคลคูลัส (Calculus) ไปใช้ก่อน ม.6 การกระทำแบบนี้เป็นการกระทำที่สูญเปล่า เหมือนกับการกินต้มยำปลาโดยที่กินปลาลงไปก่อน แล้วจึงกินเครื่องปรุงตามไปทีหลัง ซึ่งเท่ากับว่าไม่ได้รับรสชาติของต้มยำปลาอย่างแท้จริง หรืออาจจะกินไม่ได้ทั้งปลาแลเครื่องปรุงเลย
ตัวอย่างที่กล่าวมาแล้วเป็นเพียงจุดเล็กๆ อันหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความสูญเปล่าทั้งชั่วโมงเรียนและงบประมาณ และที่ร้ายกว่านั้น ก็คือ ทำให้นักเรียนคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ไม่รู้เรื่องทั้งสองวิชา จึงจำเป็นต้องเรียนแบบท่องจำ และอาศัยการกวดวิชาเพื่อช่วยเพิ่มเทคนิคการช่วยจำ
4. บ่อยครั้งที่ครูนำชั่วโมงการเรียนการสอนไปติวข้อสอบแบบแปลกๆ จึงทำให้เด็กนักเรียนต้องเรียนเพิ่มเรื่องที่ต้องจำ ขาดการคิดเป็นทำเป็น และก็บ่อยครั้งเช่นเดียวกันที่ครูนำความรู้ระดับมหาวิทยาลัยปี 1 ปี 2 ไปสอนเพิ่มเติมให้แก่นักเรียนอีกโดยมีความมุ่งหวังจะให้นักเรียนเข้าใจเรื่องในระดับมัธยมดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นเจตนาร้ายในรูปของการยัดเยียดความรู้ให้แก่นักเรียนโดยไม่จำเป็น และเมื่อเนื้อหาที่อยากสอนมีมากขึ้นก็จำเป็นต้องสอนแบบบอกเล่ามากกว่าสอนให้เกิดการคิด
5. การแยกการบริหารกลุ่มสาระคณิตศาสตร์ กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ และกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมอิสระออกจากกัน มีผลให้การเรียนอิสระจากวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ตามไปด้วยจึงทำให้การสอนคณิตศาสตร์ได้แต่เน้นการสอนคณิตศาสตร์เพื่อคณิตศาสตร์เพียงอย่างเดียว โดยลืมหน้าที่ของคณิตศาสตร์ในฐานะเป็นภาษาของวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และเป็นแกนของอารยธรรม การละเลยดังกล่าวนี้มีผลทำให้การเรียนคณิตศาสตร์ขาดรูปธรรมในโลกของความเป็นจริงจึงทำให้คณิตศาสตร์ที่เรียนเข้าใจได้ยากขึ้น และเป็นผลต่อเนื่องให้วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ก็เข้าใจยากตามมาด้วย ในที่สุดการกวดวิชาก็จำเป็นต้องเข้ามาช่วยการท่องจำให้แก่นักเรียน และจำเป็นต้องจำมากเพราะแยกจำทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ แต่ถ้าได้ร่วมกันบูรณาการก็จะลดชั่วโมงเรียน และเกิดรูปธรรมของการเข้าใจในโลกความเป็นจริงได้ด้วย ไม่จำเป็นต้องแยกจำดังกล่าวแล้ว

การจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นการจัดการที่สูญเปล่าหรือไม่

มีรายงานตรงกันในระดับนานาชาติระบุว่า 80 % ของโรงเรียนมัธยมศึกษา มีกิจกรรมการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่ทำลายความคิดทางวิทยาศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนต้นของนักเรียน
เมื่อพิจารณาปัญหาที่กล่าวมานี้ เห็นว่าควรจะเพิ่มเป็น 90% ด้วยซ้ำไป และเมื่อไปเยี่ยมโรงเรียนมัธยมศึกษาก็พบว่า เด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นมีหน้าตาสดใส แววตายังฉลาดอยู่ แต่มัธยมศึกษาตอนปลายกลับตรงกันข้าม และพบว่าการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้ทำลายสิ่งต่อไปนี้โดยไม่รู้ตัว คือ
1. วิธีการทางวิทยาศาสตร์
2. ความคิดรวบยอดทางวิทยาศาสตร์
3. บูรณาการแบบองค์รวม
4. นักเรียนเป็นสำคัญและเรียนรู้อย่างมีความสุข
5. สัมพันธ์กับภูมิปัญญาท้องถิ่น



วิธีการทางวิทยาศาสตร์

วิธีการวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนส่วนใหญ่ปฏิบัติกันมา มักเน้นที่การทดลองโดยไม่สนใจสมมุติฐานและที่ขาดและไม่ค่อยสนใจ คือ การฝึก การสังเกต การสงสัย การตั้งปัญหา และการตั้งสมมุติฐาน แล้วจึงออกแบบการทดลอง หรือสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทดสอบสมมุติฐานดังกล่าว ว่าเป็นคำตอบของข้อสงสัยหรือไม่ และที่ร้ายกว่านั้นหลายโรงเรียนไม่มีการทดลองให้ดูเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น